ไม่มีบทความ
ไม่มีบทความ

เฟินชายผ้าสีดาเป็นอย่างไร

เฟินสกุลชายผ้าสีดา Platycerium (plat-ee-sir-ee-um แพล๊ท-ตี-เซอ-รี-อัม) ในบ้านเรา ภาคใต้เรียก "ชายผ้าสีดา" ภาคอีสาน เรียก "กระเช้าสีดา" หรือ"สไบสีดา" และภาคเหนือเรียก "ห่อข้าวสีดา" หรือ "หัวเฒ่าย่าบา" ชื่อ "สีดา" นี้เป็นชื่อของนางเอกในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ในขณะที่ทางต่างประเทศเขาไม่มีตัวละครแบบเรา จึงตั้งชื่อเปรียบกับเขาของกวาง ที่แตกเป็นแฉก หรือเปรียบเป็นมงกุฏของนางฟ้า ชื่อสกุล Platycerium มาจากคำในภาษากรีกว่า platys+kera (platy แปลว่า broad เป็นแผ่น และ keras แปลว่า horn เขาของสัตว์) นอก จากนี้ ยังมี นิทานพื้นบ้านของคนไทย ในดินแดนประเทศจีนปัจจุบัน เล่าเกี่ยวกับเฟินชายผ้าสีดาอีกด้วย

Platycerium coronarium

Platycerium coronarium

เฟินชายผ้าสีดาสายม่าน Platycerium coronarium

Platycerium coronarium (J.G. Koen.ex. Muell) Desv.
ชื่อสามัญ : Disk Staghorn, Crown Staghorn
ชื่ออื่น : สายม่าน สายวิสูตร (ชื่อทางการค้าใน กทม.) กระจาด กระปรอกกระจาด (ชลบุรี) กระปรอก (ใต้) หัวสีดา ห่อข้าวสีดา หัวอีโบ(อีสานใต้และตะวันออก) Paku langsuyar หรือ Semun bidari (Malay).
Coronarium (อ่าน cor-o-nar-i-um คอ-โร-นา-ริ-อัม) มาจากคำว่า Corona หรือ Crown ที่แปลว่า มงกุฎ เป็นชื่อของ ชายผ้าสีดาชนิดนี้ ที่เรียกตามลักษณะของใบกาบ (sterlie frond) ที่ชูตั้งขึ้นและเป็นหยักลึกที่ปลาย มองดูคล้ายมงกุฎ มีขนาดใหญ่
เฟินชายผ้าสีดาชนิดนี้ ในต่างประเทศย่องยกให้เป็นชายผ้าสีดาชนิดที่สวยงามที่สุดในโลก ถิ่นกำเนิดอยู่ในอาเซียน ในธรรมชาติมักพบเกาะอาศัยอยู่ตามลำต้นไม้ใหญ่ ู่ในป่าโปร่ง ที่ระดับความสูงปานกลางจากระดับน้ำทะเล กระจายพันธุ์อยู่ใน ไทย ลาว เขมร มาเลเซีย พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ในบ้านเราพบมากทางภาคตะวันออกและภาคใต้ หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ภาคใต้ พบตามสวนยางและป่าดิบชื้นที่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ยะลา สตูล
ลักษณะทั่วไป : ทั่วทั้งต้นสีเขียวอมเหลือง ลำต้นเป็นเหง้าเลื้อย ปลายยอดเหง้าปกคลุมด้วยเกล็ดเป็นแผ่นบาง สีน้ำตาล เจริญเติบโตออกใบใหม่ตลอดทั้งปี และโตเร็วมาก หากได้รับแสงและความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ เหง้าสามารถแตกกิ่งตายอดใหม่ได้

การปลูก : เป็นเฟินสามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การนำมาปลูกเลี้ยงจึงไม่ยาก ปลูกเป็นไม้เกาะอาศัย ชอบแสงสว่างปานกลาง และความชุ่มชื้นสูง ไม่ชอบน้ำปริมาณมาก จึงไม่ควรเอาไว้ในที่ร่มจัด โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน หากได้รับน้ำมากเกินไป ไม่มีช่วงที่ระบบแห้งบ้าง จะทำให้เน่าได้ง่าย และไม่ทนต่อสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 19 องศา C

การขยายพันธุ์ : แยกหน่อต้นใหม่ หน่อใหม่ที่เกิดจากการแตกกิ่งสาขาของเหง้าจากต้นแม่ (ไม่ได้เกิดจากปลายราก) ซึ่งจะงอกออกมาโตในระนาบเดียวกับต้นแม่ คือ เกิดข้างซ้ายหรือขวาของต้นแม่ หรือขยายพันธุ์จากสปอร์ ซึ่งสปอร์ของชายผ้าสีดานี้ เมื่อแก่ สปอร์จะหลุดร่วงออกไปทีเดียงอย่างรวดเร็ว หากต้องการเก็บสปอร์แก่เอามาเพาะขยายพันธุ์ ต้องคอยดูอยู่ตอลด บางครั้งเผลอลืมดูไป สปอร์ปลิวหายไปหมด บางคน เอาถุงพลาสติกมาห่อถ้วยสปอร์และมัดหนังยางเอาไว้ก่อนสปอร์แก่ ก็มี


เฟินชายผ้าสีดาเขากวางตั้ง Platycerium ridleyi

เฟินชายผ้าสีดาเขากวางตั้ง Platycerium ridleyi
Platycerium ridleyi H. Chris.
ชื่ออื่น : ชายผ้าสีดา-กระเช้าเขากวาง (ตั้ง)
กระเช้าเขากวาง เป็นเฟินชายผ้าสีดาอีกชนิดหนึ่ง ชื่อชองชนิด ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นักพฤกษศาสตร์ J. Ridley ที่เข้ามาทำการสำรวจเฟินในมาเลเซียและเขียนหนังสือ ชื่อ "Ferns of The Malaysia" เฟินชนิดนี้ มักพบเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ที่ระดับความสูงจากพื้นดินมากกว่า 20 ม. ขึ้นไป เป็นเฟินที่ชอบอากาศถ่ายเทสะดวก และต้องการแสงมาก พบที่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ลงไปมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ในธรรมชาติ เฟินชนิดนี้จะอาศัยอยู่ร่วมกับมด ด้วยลักษณะของกาบใบที่ห่อหุ้มกิ่งไม้อย่างแน่น เป็นร่องไขว้ไปมา ทำให้เกิดช่องว่างภายในจำนวนมาก เหมาะที่มดจะเข้าไปอาศัยทำ รังหลบแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี มดผู้อยู่อาศัยจะคาบเอาเศษอาหาร เศษดิน เศษอินทรียวัตถุต่างๆ เข้ามาในรัง อีกทั้งมูลที่มดขับถ่ายออกมา เหล่านี้ จะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่เฟิน อีกทั้งมดยังคอยกำจัด หรือขับไล่แมลงอื่นๆ ที่จะมากัดกินหรือทำลายต้นเฟินด้วย ด้วยลักษณะเช่นนี้ เป็นการอาศัยอยู่ร่วมกัน แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน

ลักษณะทั่วไป : ลำต้นเป็นเหง้าเป็นแท่ง สั้น ตัวแท่งเหง้ามีใบกาบและระบบรากห่อหุ้มมิด ปลายยอดเหง้ามีเกล็ดสีน้ำตาลปกคลุม เกล็ดเป็นรูปไข่คว่ำปลายมนโคนคอด หรือรูปช้อนปลายมน หรือสอบแคบปลายมน


อับสปอร์ : เกิดในอวัยวะรูปกลมรี คล้ายช้อน แยกออกจากโคนใบเขา (fertile frond) เมื่อสปอร์แก่ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม อับสปอร์จะเปิดออกและปล่อยให้สปอร์ปลิวออกไปในครั้งเดียว สปอร์ที่แก่มีเส้นใยมากมายปลิวลอยไปด้วย เข้าใจว่า เส้นใยเหล่านี้ ช่วยทำหน้าที่ให้สปอร์ปลิวไปได้ไกลมากขึ้น และยังช่วยเกาะเกี่ยวกับเปลือกต้นไม้ ทำให้สปอร์ไม่ร่วงหล่นลงพื้นดินหรือโดนน้ำฝนที่ไหลมาตามเปลือกไม้ชะไหลไป

อับสปอร์ของ P.ridleyi


การปลูกเลี้ยง : จากลักษณะโครงสร้างของต้นและสภาพของถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ ทำให้เราทราบได้ว่า เฟินชนิดนี้ ต้องการความชื้นสูงหรือมีไอน้ำมากในบรรยากาศรอบๆ ต้น อีกทั้งยังต้องการแสงมากด้วย แต่ไม่ชอบปริมาณน้ำมาก

การเพาะขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์จากสปอร์เท่านั้น เพราะต้นในธรรมชาติ หรือต้นที่ปลูกเลี้ยงปกติ ไม่แตกหน่อใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราอาจพบในบางต้น ที่มีการแตกกิ่งต้นใหม่ตามข้อของเหง้าได้ ในกรณีที่เลี้ยงอยู่ในสภาพแสงน้อย ทำให้เหง้าเลื้อยยาว ใบออกห่าง จึงทำให้แตกกิ่งต้นใหม่ตามเหง้าได้

ปีกผีเสื้อ Platycerium wallichii

ปีกผีเสื้อ Platycerium wallichii
Platycerium wallichii Hook.ชื่อสามัญ Indian Staghorn Fernชื่ออื่น : ห่อข้าวสีดา ห่อข้าวย่าบา ตองห่อข้าวย่าบา หัวเฒ่าอีบา กระฌอโพน่า กระปรอกหัวหมู กระปรอกใหญ่ ปีกผีเสื้อ (กทม)P. wallichii ( อ่าน วอล-ลี-คี-ไอ wal-lee-key-eye ) เป็นชื่อของ Nathaniel Wallich อดีตผู้อำนวยการ Calcutta Botanic Garden เมื่อปี พ.ศ. 2358
ห่อข้าวสีดา P. wallichii เป็นเฟินชายผ้าสีดาที่สวยงามมากอีกชนิดหนึ่ง จัดเป็นเฟินชายผ้าสีดาที่มีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับอีก 3 ชนิดที่พบในบ้านเรา และอาจจัดเป็นดัชนีของป่าเบญจพรรณได้ด้วย
ห่อข้าวสีดา P. wallichii มักพบในบริเวณป่าโปร่งๆ ได้รับแสงแดดเพียงพอ ถึงแดดครึ่งวัน จึงจะเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งยังต้องการอากาศเย็นชื้นในบางช่วงของปี มีการพักตัวหยุดการเจริญเติบโตในหน้าแล้งนานหลายเดือน โดยทุกส่วนจะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบชายผ้าจะเหี่ยวและบิดม้วนเป็นเกลียว ดูราวกับว่ามันตายไปแล้ว จวบจนฤดูฝนใหม่มาถึง ใบชายผ้าที่เหี่ยวนั้น จะคลี่ออกและเขียวสดขึ้นมาดังเดิม และเริ่มผลิใบรุ่นใหม่ออกมาอีกครั้ง เฟินชนิดนี้

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินชายผ้าสีดาต้นเดี่ยว ไม่แตกหน่อ มีขนาดกลาง หากอยู่ในป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อาจพบต้นขนาดใหญ่ได้ ลำต้นเหง้าเป็นแท่งเลื้อยสั้น ปกคลุมแน่นด้วยเกล็ดแข็ง เกล็ดเป็นเส้นยาว สีน้ำตาลเข้ม บริเวณกลางเกล็ดสีอ่อน ทั่วทั้งต้นมีขนนุ่มสั้นทั่วไป ขนสีขาวนวล ใบหนานุ่มมือ เส้นใบปูดนูน มองเห็นได้ชัดเจน

การปลูกเลี้ยง : ต้องการแสงแดดรำไรถึงแสงมาก ความชุ่มชื้นในบรรยากาศควรสัมพันธ์กับแสง กล่าวคือ หากแสงน้อย ควรให้น้ำแต่น้อย ให้แค่พอมีความชื้น และหากแสงมาก ควรให้น้ำและความชื้นมากตามด้วย ประกอบกับ ต้องปล่อยให้มีช่วงที่ระบบรากมีโอกาสแห้งบ้าง หากระบบรากเปียกแฉะตลอด ติดต่อกันหลายวัน อาจจะทำให้ต้นเน่าและตายได้

การขยายพันธุ์ : ชนิดนี้ ไม่แตกหน่อ อาศัยสปอร์เท่านั้น อีกทั้งสปอร์มีอายุสั้น ต้องรีบเพาะทันทีเมื่อเก็บสปอร์แก่มา บางคนแนะนำ ให้ตัดใบที่มีสปอร์แก่มา แล้วเก็บใสห่อกระดาษเอาไว้ นำไปแช่เย็น จะช่วยยืดอายุของสปอร์ให้เก็บได้ยาวนานขึ้น

หูช้างไทย Platycerium holttumii

หูช้างไทย Platycerium holttumii
Platycerium holttumii Jonch. & Hennipman
ชื่ออื่น : กระเช้าสีดา, ข้าวห่อพญาอินทร์ (นนทบุรี) กระเช้าสีดา (อีสาน) สไบสีดา (เลย) ชายผ้าสีดา-หูช้าง* (* ชื่อทางการค้า ใน กทม. ตั้งกันเอง)
กระเช้าสีดา P. holttumii (ฮอล-ตัม-มิ-อิ) ตั้งชือให้เป็นเกียรติกับ Dr. R. E. Holttum แห่ง Kew Garden ที่ประเทศอังกฤษ ผู้ที่ทำการสำรวจและเขียนหนังสือ "A RevisedFlora of ,alaya, Vol. 2, Ferns" และมีงานค้นคว้ามากมายเกี่ยวกับเรื่องเฟิน
กระเช้าสีดา มีถิ่นกำเนิดในไทย ลาว และเวียดนาม พบทั่วไปทั่วทุกภาคของบ้านเรา แต่พบมากทางภาคเหนือและอีสาน เป็นเฟินชายผ้าสีดาขนาดใหญ่ มักพบอาศัยอยู่ตามคาคบไม้ขนาดใหญ่ระดับสูง 7-10 ม. จากพื้นดิน ในป่าดิบแล้งเฟินชนิดนี้ ผู้คนในเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะใน กทม. นิยมหามาปลูกเลี้ยงกันมาก นิยมปลูกเลี้ยงติดไว้บนต้นไม้ ทำให้ดูเหมือนป่าธรรมชาติ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ส่วนมาก หรือเกือบทั้งหมดก็ว่าได้กระเช้าสีดาที่หามาปลูกกันนั้น เป็นต้นที่เก็บจากป่าธรรมชาติ ที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บเอาออกมาขาย และด้วยความนิยอย่างมแพร่หลายมากนี้เอง ทำให้กระเช้าสีดามีโอกาส สูญพันธุ์จากป่าธรรมชาติ เพราะ เก็บออกมาตั้งแต่ต้นเล็กกว่าฝ่ามือ ไปจนถึงขนาดใหญ่ถึง 2 ม. ก็มี ประกอบกัน เฟินชนิดนี้ เจริญเติบโตช้ามาก ขนาดต้นกว้างเท่าฝ่ามือ 10 ซ.ม. อายุก็ราว 3 ปีเข้าไปแล้ว และกว่าจะโตได้ขนาดต้นสัก 50 -60 ซ.ม. ยิ่งต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี

ลักษณะทั่วไป : ทั่วทั้งต้นสีเขียวปนน้ำเงิน มีขนนวลขาวปกคลุมทั่ว ใบแข็งหนาเป็นมัน เหมือนหนัง ลำต้นเป็นแท่งเหง้าแบบแท่งดินสอ ฝังตัวอยู่ในระบบรากและใบกาบห่อหุ้ม โผล่ออกมาแต่ตายอด ที่ยอดเหง้าปกคลุมแน่นด้วยเกล็ดยาว รูปขอบขนาน ปลายสอบแหลม เกล็ดมีขนาดใหญ่ได้ถึง 15 x 1.5 ม.ม. ขอบเกล็ดหยักเป็นซี่ฟันที่ยอดเหง้า เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด หากยอดเหง้าถูกทำลาย อาจทำให้ต้นตายได้ เพราะกระเช้าสีดาไม่แตกหน่อใหม่ที่ปลายราก แบบชายผ้าสีดาบางชนิด

การปลูก : ปลูกเลี้ยงและดูแลง่าย เจริญเติบโตได้ตลอดปี หากได้รับความชื้นสม่ำเสมอตลอดและอุณหภูมิไม่ต่ำจนถึงหนาวเย็น การปลูก เหมาะปลูกติดกับลำต้นหรือกิ่งไม้ใหญ่ๆ ต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ หรือปลูกติดตอไม้ ชอบแสงแดดรำไรถึงแสงแแดมาก มีความชุ่มชื้นในอากาศสูง ไม่ควรรดน้ำเข้าไปที่นะบบรากมากๆ จะทำให้ต้นเน่าง่าย ควรเว้นช่วงระยะให้รากแห้งบ้าง โดยเฉพาะหน้าฝน หากฝนชุก จึงควรปลูกเลี้ยงให้ได้แสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน เพื่อให้แดดช่วยทำให้น้ำระเหยไปได้เร็ว

การขยายพันธุ์ : กระเช้าสีดา เป็นต้นเดี่ยว ไม่แตกหน่อต้นใหม่ การขยายพันธุ์จำเป็นต้องอาศัยงอกจากสปอร์ใหม่เสมอสำหรับการเพาะสปอร์ ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร กว่าจะได้ต้นขนาดสัก 1-2 นิ้ว อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 ปี และเมื่ออายุต้นเข้าปีที่ 3 ต้นจะเติบโตเร็วมาก ใบกาบใหม่จะขยายใหญ่เร็วมาก

เฟินชายผ้าสีดาพันธุ์ต่างประเทศ Platycerium andinum

เฟินชายผ้าสีดาพันธุ์ต่างประเทศ  Platycerium andinum

Platycerium andinum (an-dee-num)
ชื่อสามัญ : South American Staghorn, Crown of The Angels

P. andinum (อ่าน แอน-ดี-นุม an-dee-num) ชื่อของชายฟ้าสีดาชนิดนี้ หมายถึง เทือกเขา Andes ในอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นกำเนิดของเฟินชายผ้าสีดาชนิดนี้ เป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา ในพื้นที่ที่แห้งแล้งในมาดากัสกาแถบตะวันตกและอาฟริกาตะวันออก เปรูแถบตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณป่าลุ่มน้ำอเมซอน และพื้นที่บางส่วนของโบลีเวีย ที่ระดับความสูง 150-300 ม. MSL

ลักษณะทั่วไป : ทรงพุ่มต้น ผอม สูง สีเขียวอ่อนกว่า Platycerium ชนิดอื่น ทั่วทั้งต้นปกคลุมด้วยขนละเอียดสีขาวนวล สามารถเกิดหน่อต้นใหม่ที่ปลายรากทางด้านข้างของต้น จนล้อมรอบลำต้นไม้ หรือที่เกาะอาศัย

การปลูกเลี้ยง : จัดเป็นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ชอบแสงแดดจัดส่องถึงโดยตรง ปริมาณน้ำไม่มากเกิน ต้องปล่อยให้ระบบรากแห้งก่อน แล้วจึงให้น้ำอีกครั้ง ด้วยวิธีการเลี้ยงแบบนี้ จะทำให้ใบมีขนปกคลุมได้เยอะ และใบกาบด้านบน ชูตั้งขึ้นไปเป็นตะกร้า ส่วนใบกาบด้านล่างหนาเหมือนฟองน้ำ ที่ทำหน้าที่เก็บรักษาความชื้นเอาไว้ได้นาน ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ต้นแห้งสนิทก่อนให้น้ำครั้งแต่ไป

การขยายพันธุ์ : การเพาะสปอร์ แต่การเพาะสปอร์ทำได้ยาก อีกวิธี โดยการแยกหน่อที่เกิดจากปลายรากบริเวณด้านข้างของใบกาบ หน่อเจริญเติบโตช้ามาก

Platycerium alcicorne

Platycerium alcicorne
Platycerium alcicorneชื่อพ้อง : Platycerium vassei
ชื่อสามัญ : Elkhorn Fern
ชื่ออื่น : กระเช้าเขากวางอัฟริกา
ตามรายงานการค้นพบใน เคนยา แทนซาเนีย โนดีเซีย โมคัมบิก Madagascar Seychelles และ Grande Comoreo Island มักพบในป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง ตั้งแต่ 0-600 ม. (MSL) อาศัยเกาะอยู่ตามคาคบไม้ บริเวณที่เป็นร่มเงา หรือแสงรำไร ชื่อ alcicorne มาจากคำว่า alces + i + cornis (alces = elk, cornis=horn, anter) รวมความ alcicorne มีความหมายว่า เขากวาง หมายถึง มีใบเป็นแฉกสาขาเหมือนเขาของกวาง

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินเกาะอาศัย ขนาดกลาง เหง้าเลื้อยสั้น ฝังตัวอยู่ในระบบรากและใบกาบที่ห่อหุ้ม โผล่ออกมาเฉพาะปลายยอด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซ.ม. ปกคลุมด้วยเกล็ดรูปลิ่มแคบ สีน้ำตาล สามารถสร้างตาหน่อใหม่ที่ปลายราก

P. alcicorne มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์จากอัฟริกาเรียกว่า P. alcicorne Africa Form และสายพันธุ์จากมาดากัสการ P. alcicorne Madagascar Form แต่ในทางพฤกษศาสตร์ยังคงจัดให้เป็นชนิดเดียวกันอยู่ แต่สำหรับนักสะสมพันธุ์ไม้และในทางการค้าถือว่าต่างสายพันธุ์
ลักษณะที่แตกต่างกัน
ลักษณะแตกต่างของสองสายพันธุ์นี้ ได้แก่
1. P. alcicorne Africa form ทั่วทั้งต้น มีสีเขียวตอง หรือสีเขียวอ่อนอมเหลืองและเป็นเงามันมากกว่า P. alcicorne Madagascar form ที่มีสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านกว่า และมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่นแต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองสายพันธุ์ หากดูเฉพาะลักษณะและสีของใบอาจเกิดการสับสนได้ อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยง โดยมีปุ๋ย ความชื้นและแสงเป็นตัวแปรสำคัญ

P.alcicorne Africa form

P. alcicorne Madagascar form

2.P. alciorne Africa form ที่ใบกาบ เส้นใบจมลง เป็นร่องตื้นๆ และผิวระหว่างเส้นใบนูนขึ้น ส่วน ส่วนใบกาบของ P. alcicorne Madagascar form มีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น เมื่อโตเต็มที่ ใบกาบส่วนบนเหนือจุกตา เป็นปูดนูนเป็นสันตามเส้นใบ และผิวระหว่างเส้นใบเป็นร่องจมลง

P. alcicorne Africa form

P. alcicorne Madagascar form

3.ใบชายผ้า หรือ fertiel frond ของ P. alcicorne Africa Form เป็นรูปลิ่ม ฐานกว้าง ปลายแฉกแหลม และมีขนปกคลุมน้อยกว่า P. alcicorne Madagascar form ที่ใบชายผ้ามีสัดส่วนดูแคบผอมมากกว่า ปลายใบมนกลม และด้านใต้ใบมีขนปกคลุมหนาแน่นกว่า
แฉกเป็นกิ่งคู่ชั้นที่ 2-3 ของ P. alcicorne Madagascar มีระยะสม่ำเสมอใกล้เคียงกันทุกกิ่งแฉก แต่ P. alcicorne Africar Form แต่ละแฉก แตกเป็นกิ่งคู่บนแต่ละแฉก ไม่สม่ำเสมอ

P.alcicorne Africa form

P. alcicorne Madagascar form

การขยายพันธุ์: สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะสปอร์ แต่การเกิดสปอร์ จะเกิดช้ามาก และขยายพันธุ์ด้วยการ แยกหน่อที่เกิดจาก ปลายรากต้นแม่ ซึ่งวิธีนี้จะให้ผลเร็วกว่ามาก

Platycerium bifurcatum

Platycerium bifurcatum

Platycerium bifurcatum (Cav.) C. Chr.
ชื่อสามัญ : Common Staghorn, Elkhorn Australia
ชื่ออื่น : คอมมอนสแต๊กฮอร์น, เขากวางฮอลแลนด์, เขากวางออสเตเรีย
P. bifurcatum ชื่อของชายผ้าสีดาชนิดนี้ มาจากคำว่า bifurcate หมายถึง ลักษณะของใบชายผ้าที่แบ่งเป็นแฉกแบบ ผอมเรียว ยาว ปลายเป็นแฉกลึกแบบนิ้วมือ P. bifurcatum มีถิ่นกำเนิดในออสเตเรีย กระจายพันธุ์กว้างขวางในพื้นที่เขตร้อนชื้นถึงเขตหนาวของออสเตเรีย
ลักษณะทั่วไป : ลำต้นเหง้าเป็นแท่งเลื้อยสั้น มีเกล็ดปกคลุมเหง้า เกล็ดที่เหง้า รูปยาวถึงรูปหอก สีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ช่วงกลางเกล็ดมีแถบสีน้ำตาลเข้มไปเกือบถึงส่วนปลายของเกล็ด ขอบของเกล็ดเป็นแฉกเรียวหรือขนยาว สี

การปลูกเลี้ยง : P. bifurcatum เป็นชนิดที่เลี้ยงง่ายที่สุดในบรรดาชายผ้าสีดาทุกชนิด ทำให้ชนิดนี้เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันไปทั่วโลก เนื่องจากมีความทนทาน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมสภาพต่างๆ ได้

การปลูก: สามารถปลูกเกาะได้หลากหลายรูปแบบ ปลูกติดต้นไม้ใหญ่ หรือปลูกติดกับกระดาน หรือตอไม้ก็ได้ ปลูกลงในกระถาง

การขยายพันธุ์ : เพาะสปอร์และแยกหน่อ หน่อใหม่ที่จะแยกจากต้นแม่


Platycerium elephantotis

Platycerium elephantotis

Platycerium elephantotis Schweinf.
ชื่อพ้อง : Platycerium angolense
ชื่อสามัญ : Cabbage Fern, Elephant's Ear Fern
ชื่ออื่น : หูช้างอัฟริกา, Lettuce Staghorn

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินชายผ้าสีดาขนาดใหญ่ เหง้าขนาด 1 ซ.ม. ปกคลุมด้วยเกล็ดรูปลิ่ม ยาว 1.5 .ม. เกล็ดสีน้ำตาล แถบกลางสีดำ ทั่วทั้งต้นมีขนอ่อนปกคลุม สีเขียวอ่อน หรือเขียวอมเหลือง ในหน้าแล้ง มักพักตัว แม้ใบจะยังเขียวสด แต่การเจริญเติบโตช้า หรือไม่ออกใบใหม่ ต้นโตเต็มที่สามารถสร้างต้นอ่อนใหม่ที่ปลายราก

วิธีการปลูกเลี้ยง : P. elephantotis เจริญเติบโตได้ดีในฤดูร้อนและอากาศชุ่มชื้น แต่พักตัวในช่วงอากาศเย็น หลังจากพักตัว เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน มันจะเริ่มแตกใบกาบใหม่ และช่วงต้นฤดูแล้ง จะออกใบชายผ้ารุ่นใหม่ ปกติไม่ทนต่อสภาพอากาศเย็น การให้น้ำควรให้เพียงชุ่มชื้น ไม่ชุ่มแฉะที่รากตลอดเวลา เครื่องปลูกควรระบายน้ำได้ดี ต้องการแสงสว่างมาก หรือแสงแดดรำไร ไม่โดนแสงแดดจัดโดยตรง สิ่งที่ต้องคอยระมัดระวังมาก คือ หากชุ่มแฉะรากติดต่อกันหลายๆ วัน โดยเฉพาะหากฝนตกชุก มักจะมีปัญหาเรื่องเน่า และสำหรับในกรณีที่เลี้ยงร่ม ได้แสงน้อยเกินไป ต้องระมัดระวังในการให้น้ำ ควรให้น้ำเมื่อแห้งสนิทจริงๆ ก่อน มิฉนั้นจะเน่าได้โดยง่าย

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ ซึ่งทำได้ยาก และมีน้อยต้น ที่จะเป็นต้นที่ได้จากการเพาะสปอร์ ส่วนอีกวิธี คือ แตกหน่อต้นใหม่ที่แตกออกจากปลายราก

Platycerium ellisii

Platycerium ellisii

Platycerium ellisii Bak.ชายผ้าสีดา อิลิสิไอ Syn. Platycerium diversifolium Bonaparte
ชายผ้าสีดา P. ellisii มีถิ่นกำเนิดและพบได้เฉพาะที่เกาะมาดากัสกาเท่านั้น ซึ่งพบได้บริเวณป่าชายเลน ฝั่งทะเลตะวันออกของเกาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่นและมีความชื้นสูงมาก และมักพบอยู่ตามต้นโกงกางในป่าชายเลน ซึ่งต้นโกงกางมีใบดกหนาแน่น ทำให้ P. ellisii ได้รับร่มเงา

ลักษณะทั่วไป : เฟินชายผ้าสีดา P. ellisii ขนาดเล็ก-กลาง เหง้าลำต้นเลื้อยสั้นใบออกถี่ เหง้ามีเกล็ดปกคลุมแน่น เกล็ดรูปหอก เรียว ปลายแหลม สีฟางถึงสีน้ำตาลเข้ม ช่วงกลางเป็นแถบสีดำ มีขนสีขาวๆ ยาวได้ถึง 5 ม.ม. เห้งามีระบบรากสั้น และระบบรากอยู่ตื้นใกล้กับตายอด ทั่วทั้งต้นสีเขียวอมเหลือง ผิวเป็นเงามัน แทบไม่เห็นขน (รูปดาว stellate) เมื่อโตเต็มที่สามารถแตกหน่อต้นอ่อนที่ปลายรากได้

การปลูกเลี้ยง P. ellisii ต้องการความชื้นสัมพัทธ์สูง ในขณะเดียวกัน ต้องการแสงปานกลาง หรือแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน หากปลูกเลี้ยงในที่ได้แสงไม่เพียงพอ เหง้าจะเลื้อยยาว และใบออกห่าง ทำให้ทรงต้นล้มเอน หรือห้อยย้อย เหง้าอาจหักได้ง่าย และใบชายผ้าห้อยย้อยลง ไม่ชูตั้งขึ้น ในกรณีที่ปลูกเลี้ยงในที่ค่อนข้างแห้ง ต้นจะให้ใบกาบบ่อยมากกว่าใบกาบ ในทางตรงกันข้าม หากเลี้ยงในที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ต้นจะออกใบกาบบ่อยกว่า P. ellisii ไวต่อปุ๋ยที่ได้รับ กรณีที่ใส่ปุ๋ยบ่อย ใบจะบางและเป็นสีเขียวเข้ม แต่ต้นจะไม่แข็งแรง ไม่มีภูมิต้านทานโรคและเชื้อรา ปกติควรให้ปุ๋ยเมื่อใบเริ่มออกเหลืองมากแล้วจะดีกว่า

การขยายพันธุ์ : โดยการแยกหน่อที่เกิดจากปลายราก หรือเพาะสปอร์

Platycerium grande

Platycerium grande

Platycerium grande
ชื่อสามัญ : Staghorn fern
ชื่ออื่น : Capa de leon (ฟิลิปปินส์) กระโปรงสีดา
ชายผ้าสีดา P. grande (แกรน-เด หรือ แกรด-ดา) มีถิ่นกำเนิดในพิลิปปินส์ และหมู่เกาะนิวกีวนี มักพบเกาะอยู่ตามต้นไม้ในป่า ที่ระดับความสูงไม่มากนัก ไปจนถึงที่ระดับ 500 ม. ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จัดให้เป็นเฟินที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพป่าธรรมชาติถูกทำลายไปมาก เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ถางป่าเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะสวนปาล์มน้ำมัน

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินขนาดใหญ่ มีเหง้าเป็นแท่งกลมยาว ปลายยอดเหง้าปกคลุมด้วยเกล็ดสีน้ำตาลแดง ตัวเหง้าฝังจมอยู่ในระบบรากและใบกาบเก่าที่ซ้อนทับกัน

การปลูกเลี้ยง : P. grande ต้องการความชื้นในอากาศสูง ให้น้ำพอมีความชื้นและมีช่วงแห้งสลับกันไป เพื่อป้องกันการให้น้ำเกิน ควรพ่นละอองน้ำ แบบฝนตก ให้เปียกไปทั้วทั้งต้น โดยไม่กรอกรน้ำเข้าไป ที่ด้านหลังของใบ ควรจัดให้ได้แสงสว่างมากพอสมควร ถึงแดดครึ่งวัน P. grande เจริญเติบโตขยายขนาดได้เร็วมาก และเติบโตตลอดปี ไม่มีช่วงพักตัว หากได้รับความชื้นสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงควรจัดให้มีบริเวณเพื่อยึดเกาะได้กว้างสักหน่อยสามารถปลูกเกาะติด ต้นไม้ ติดแผ่นกระดานไม้ ติดฝาผนัง ติดเสาอิฐ ก็สามารถทำได้

การขยายพันธุ์ : เป็นเฟินต้นเดี่ยว ไม่แตกหน่อ ต้องเพาะจากสปอร์เท่านั้นProthallus และ Sporophytes กินน้ำเก่ง ต้องหมั่นเติมน้ำให้บ่อยกว่า เมื่อเทียบกับ species อื่น Sporophytes เจริญเติบโตเร็วมาก หากได้รับแสงแดดและความชื้นเพียงพอ

Platycerium hillii

Platycerium hillii
Platycerium hillii T.Moore
ชื่อสามัญ : Northern Elkhorn, Green Staghorn, Stiff Staghorn
Platycerium hillii ( อ่าน ฮิล-ลิ-อาย hill-e-eye) ชายผ้าสีดาชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในปาปัวนิวกีวนี อินโดนีเซีย-ตะวันออก และออสเตเลีย ในรัฐ Queenland ตะวันออกเฉียงเหนือ
P. hillii เป็นเฟินเกาะอาศัย อยู่บนต้นไม้สูง หรือตามโขดหินที่ชุ่มชื้น ใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ หรือได้รับแสงแดดรำไร อยู่ในป่าฝนเขตร้อน มีฝนและความชุ่มชื้นในอากาศสูง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินเกาะอาศัยขนาดกลาง เหง้าเป็นแท่งสั้น ขนาดเล็ก ปกคลุมด้วยเกล็ดผอมเรียวยาวและโค้งแบบเคียว สามารถแตกหน่อใหม่ที่ปลายราก และเจริญเป็นกลุ่ม

การปลูกเลี้ยง : ปลูกเลี้ยงง่าย เหมือน P. bifurcatum แต่ให้เพิ่มความชื้นมากกว่าสักหน่อย และได้รับแสงแดดเพียงรำไร ที่สำคัญ P. hillii ไม่ทนทานต่อสภาพอากาศเย็นและแห้งแล้ง
โดยปกติ P. hillii จะแตกหน่อน้อยเมื่อเทียบกับ P. bifurcatum แต่หากเลี้ยงในสภาพที่มีความชุ่มชื้นสูง และมีแสงสว่างเพียงพอ จะแตกหน่อให้ต้นอ่อนได้มากกว่าเลี้ยงในสภาพแห้ง

การขยายพันธุ์ : เพาะสปอร์ หรือแยกหน่อที่เกิดจากปลายรากไปปลูก
ในการเพาะขยายพันธุ์จากสปอร์ จากประสบการณ์ที่เคยเพาะจากสปอร์ P. hillii เป็นอีกชนิดหนึ่งที่เพาะง่าย ได้ต้นเฟินจริงในระยะเวลาไม่นานมากนัก หากสปอร์ที่เก็บมาแก่เต็มที่ และหมั่นคอยดูแลในขั้นตอนต่างๆ ของการเพาะ จากในภาพ ต้นที่เกิดจากสปอร์ อายุราว 1 ปี ซึ่งหลังจากหว่านสปอร์ ซึ่งปกติสำหรับคนอื่นแล้ว ระยะเวลา 1 ปี จะได้ขนาดต้นโตกว่านี้มาก และยังพบว่า sporelings ต้องการปุ๋ยบ่อย หากเว้นช่วงให้ปุ๋ยนานเกิน 2 เดือน ต้นจะซีดเหลือง

Platycerium madagascariense

Platycerium madagascariense

Platycerium madagascariense
Platycerium madagascariense (อ่านว่า มา-ดา-กัส-คา-ริ-เอน-เซ) เป็นไม้พื้นเมืองและเฉพาะถิ่นของ Madagascar
ที่สามารถเติบโตในป่าฝนเขตร้อน ด้านตะวันออกของเกาะ ที่เกาะมาดากัสการ์ หากแบ่งพื้นที่เกาะด้านตะวันของเกาะ ตามปริมาณฝน จะแบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ ตอนเหนือสุด ตอนกลางและตอนใต้ล่าง ปริมาณน้ำฝนแต่ละพื้นที่ มีมาก ปานกลาง และฝนน้อย ตามลำดับและ ถิ่นกำเนิดของ P. Madagascariense อยู่บริเวณพื้นที่ตอนกลาง เฟินชายผ้าสีดาชนิดนี้ ในธรรมชาติมักพบเกาะอยู่บนต้นไม้สูง ใต้เรือนพุ่มของต้นไม้ที่มันเกาะ ทำให้ได้รับอากาศถ่ายเทได้ดี และได้แสงแดดปานกลาง เนื่องจากไม่ชอบปริมาณน้ำมาก ลมพัดถ่ายเทสะดวก ช่วยระเหยน้ำส่วนเกินที่มันไม่ต้องการออกไปได้เร็ว

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินเกาะอาศัย ขนาดเล็ก สามารถแตกหน่อได้

การปลูกเลี้ยง : พิจารณาจากถิ่นที่อยู่อาศัยของชายผ้าสีดาชนิดนี้ จะทำให้ทราบได้ว่า ชอบอากาศเย็นสบาย และความชื้นในอากาศสูงมากกว่า 60% อากาศถ่ายเทสะดวก แต่ไม่ถึงกับเป็นลมพัดแรงจัด ต้องการน้ำสะอาด ยิ่งเป็นน้ำฝนได้ยิ่งดี เพราะไม่ชอบน้ำที่มีเกลือแร่ผสม การให้น้ำต้องระมัดระวังไม่ให้ระบบรากแฉะมาก จึงต้องใช้เครื่องปลูกที่ระบายน้ำดีและเก็บแต่ความชื้นได้นาน เช่น ใช้สแฟกนัมมอส หรือรากออสมันดา แต่หากปริมาณน้ำมากเกินไปจะทำให้ใบกาบเน่าเป็นสีดำเนื่องจากเชื้อรา

การขยายพันธุ์ : สามารถแยกหน่อใหม่ที่เกิดจากปลายราก หรือการเพาะจากสปอร์ การแยกหน่อใหม่ควรแยกเมื่อต้นโตเพียงพอ จึงจะเลี้ยงรอด ส่วนการเพาะจากสปอร์ ไม่แตกต่างกับเฟินอื่นทั่วไป สำคัญคือ ต้นที่ได้จากการเพาะสปอร์นี้ จะแยกออกมาเลี้ยง ควรมีขนาดมากกว่า 2.5 ซ.ม.

Platycerium quadridichotomum

Platycerium quadridichotomum

Platycerium quadridichotomum (Bonap.) Tardieu
P. quadridichotomum (อ่าน ควอ-ดะ-ไร-ได-โช-โต-มั่ม) เป็นชายผ้าสีดาชนิดที่หาได้ยาก มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
มักเกาะอาศัยอยู่ตามคาคบไม้ หรือตามหน้าผาหินปูน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหมู่เกาะมาดากัสกา ทางด้านตะวันตก ซึ่งพื้นที่ฝั่งนี้ มีความชุ่มชื้นน้อยกว่าทางด้านฝั่งทะเลตะวันออก อีกทั้งบริเวณกลางเกาะเป็นพื้นที่ภูเขาสูง เป็นกำแพงกันความชุ่มชื้นที่มาจากทางฝั่งตะวันออกพัดพามาไม่ถึง พื้นที่ทางฝั่งตะวันตก ซึง P. quadri. จะเจริญงอกงามได้ดีที่นี่ เฉพาะในฤดูที่มีฝน แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง มีความชื้นต่ำและเมื่อระบบรากของต้นแห้งไป มันจะเข้าฤดูสภาวะพักตัว เหี่ยวแห้ง ดูเหมือนตายแล้ว และจะแตกใบออกใหม่เมื่อฤดูฝนในปีถัดไป ซึ่งถือเป็นการพัฒนาปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในพื้นที่ที่มีฤดูแล้งที่ยาวนาน
P. quadridichototmum สามารถแตกหน่อต้นใหม่ทางด้านข้างของต้นแม่ และเป็นกอโอบล้อมรอบลำต้นไม้หรือสิ่งที่ยึดเกาะ

ลักษณะทั่วไป : มีเกล็ดที่เหง้า รูปหอก ปลายสอบแหลม กลางเกล็ดเป็นแถบสีดำ และมีขนละเอียด

การปลูกเลี้ยง:เหมือน เฟินห่อข้าวสีดา P. wallichii ในบ้านเรา คือ ต้องการความชุ่มชื้นดีในบรรยากาศ มากกว่าเปียกจนชุ่มแฉะที่ระบบราก อีกทั้ง P. quadridichotomum ต้องการช่วงพักตัวในหน้าแล้ง เหี่ยวแห้งเหมือน P. wallichii

การขยายพันธุ์ :การขยายพันธุ์สามารถแยกหน่อได้ แต่ไม่ค่อยแตกหน่อใหม่มากนัก และการเพาะสปอร์ที่ทำได้ยาก อับสปอร์เมื่อสปอร์แก่ สปอร์จะถูกปล่อยให้กระจายออกไปในคราวเดียวจนหมด

Platycerium superbum

Platycerium superbum

Platycerium superbum G.J.Joncheere et E. Hennipman ชื่อสามัญ : Giant Staghorn
P. superbum (อ่าน ซุป-เพิบ-อัม superb-um) เป็นเฟินกระเช้าสีดาที่มีขนาดใหญ่ ถึงใหญ่มาก ใบกาบมีความสูงได้ถึง 4 ฟุต และใบชายผ้าห้อยยาวได้ถึง 4 ฟุต ทำให้ดูมีขนาดใหญ่โต จึงได้ชื่อว่า Giant Staghorn มีถิ่นกำเนิดในออสเตเรีย พบในป่าโปร่งดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 0 ถึง 750 ม. MSL. ในพื้นที่ที่ ฤดูร้อนมีฝนชุก และแห้งแล้งในฤดูหนาว บางแห่งอุณหภูมิลดลงถึง 0 องศา กระจายพันธุ์กว้างขวางในพื้นที่เขตร้อนชื้นถึงเขตหนาวของออสเตเรีย

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินชายผ้าสีดาขนาดใหญ่ เป็นต้นเดี่ยว ไม่แตกหน่อต้นอ่อนใหม่ รูปทรงคล้าย P. holttumii, P. grande และ P. wandae

การปลูกเลี้ยง : ได้ยินได้ฟังจากนักสะสมเฟินกระเช้าสีดารุ่นเก่าๆ ในบ้านเรา มีหลายคน (รุ่นที่สะสมมาก่อนปี 2544 ย้อนหลังไป) มักบ่นกันว่า P. superbum เลี้ยงยาก ทำตายไปหลายต้น หามาใหม่ ก็ไม่เคยเลี้ยงรอดได้สักต้น ซึ่งอันนี้ก็ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดดังนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดจะเลี้ยง P. superbum ขอให้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมถิ่นกำเนิดของ P. superbum ในออสเตเลียให้เข้าใจ แล้วแปลความออกมาเป็นวิธีการปลูกเลี้ยง โดยการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเรา สำหรับในที่นี้ ขอแนะนำเบื้องต้น ดังต่อไป

การขยายพันธุ์ : P. superbum เป็นชนิดต้นเดี่ยว ไม่แตกหน่อต้นอ่อน จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ทุกครั้ง จากประสบการณ์ที่เคยเพาะขยายพันธุ์จากสปอร์ ของ P. superbum ทั้ง 3 สายพันธุ์ ใช้ระยะเวลานานมาก นับตั้งแต่สปอร์เริ่มงอกแล้ว นานมากกว่าจะได้เห็นต้นจริงเล็กๆ งอกขึ้นมา กินเวลา 1 ปี และจากต้นจริงเล็กๆ กว่าจะโตได้ถึง 2 นิ้ว รวมระยะเวลานานถึง 2 ปี กว่า แต่หลังจากผ่านปีที่ 3 ไปแล้ว ต้นจึงจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

Platycerium stemmaria

Platycerium stemmaria

Platycerium stemmaria (P. Beauv.) Desv.
ชื่อพ้อง : P. aethiopicum
ชื่อสามัญ : Triangular Staghorn Fern
P. stemmaria (อ่าน สะ-เตม-มา-ริ-เอ ) ชายผ้าสีดาชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดในตอนกลางของทวีปอัฟริกา ในป่าฝนประเทศอูกันดาและอาฟริกาเขตร้อน ตะวันตก และตามหมู่เกาะในทะเลฝั่งตะวันตกของอัฟริกา

ลักษณะทั่วไป : P. stemmaria เป็นเฟินชายผ้าสีดาขนาดกลาง เหง้ามีเกล็ดผอมเรียว รูปหอก ปลายแหลม สีโทนแดง-น้ำตาล ตรงกลางเกล็ดเป็นแถบสีดำ แต่ดำไม่ถึงปลายสุดของเกล็ด ขอบเกล็ดมีขนละเอียดอยู่ประปราย

การปลูกเลี้ยง :ชายผ้าสีดา P. stemmaria ปลูกเลี้ยงง่าย ดูแลคล้าย P. elephantotis เพราะมีถิ่นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน เพียงแต่ P. stemmaria ต้องการความชุ่มชื้นมากกว่า กล่าวคือ ควรปลูกเลี้ยงในสถานที่ที่มีความชื้นในอากาศสูง ได้รับแสงแดดบ้าง หรือแสงแดดรำไร

การขยายพันธุ์ : เฟินชายผ้าสีดา P. stemmaria สามารถแตกหน่อต้นใหม่ที่ปลายราก ซึ่งสามารถแยกนำไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้เมื่อหน่อต้นใหม่โตได้ขนาดและมีใบชายผ้าแล้ว นอกจากนี้ การเพาะขยายพันธุ์จากสปอร์ ก็สามารถเพาะได้ไม่ยาก หากได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี

Platycerium veitchii

Platycerium veitchii

Platycerium veitchii (Underw.) C.Chr.
ชื่อสามัญ : Silver staghorn
ชายผ้าสีดา Platycerium veitchii (อ่าน วิท-ชิ-ไอ veitch-e-eye) ชื่อ Veitchii นี้ เป็นชื่อของ Mr. Jame Veitch ผู้สังเกตพบชายผ้าสีดาชนิดนี้ เขามีโรงเรือนขื่อ Veitch nursery ที่ Exeter ประเทศอังกฤษ เมื่อสมัยปลายศตวรรษที่ 18 ที่โรงเรือนนี้ เป็นที่สะสมพันธุ์ไม้จากป่าเมืองร้อน โดยเฉพาะกล้วยไม้ ต่อมาได้ปิดตัวไปเมื่อราวปี ค.ศ. 1914
P. veitchii มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์อยู่ในออสเตเลีย ที่รัฐ Queensland บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงมาถึงภาคใต้, พบในบางส่วนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของ Pentland, Blackdown Tableland, Vastletower Nation Park (south of Galdstone), Carnarvon Rabge และอื่นๆ ทางภาคใต้

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินเกาะอาศัย ขนาดกลาง ลำต้นเหง้าเลื้อยสั้น เกล็ดที่เหง้ามีลักษณะเหมือน ของ P. bifurcatum มีระบบรากจำนวนมากและหนาแน่น เป็นก้อนฟองน้ำ สามารสร้างหน่อต้นอ่อนใหม่จากปลายราก

การปลูกเลี้ยง : ปลูกเลี้ยงในที่ได้รับแสงแดดรำไร หรือแสงแดดโดยตรงได้ถึงครึ่งวัน แต่ไม่ชอบอยู่ในที่ร่มสนิท ให้น้ำและความชื้นสม่ำเสมอ แต่ไม่ต้องมากนัก พอให้มีความชื้นที่ระบบราก หากให้น้ำในปริมาณมากบ่อยๆ ติดต่อกัน จะทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้อดน้ำจนแห้งสนิท กรณีที่เลี้ยงในที่ได้แสงน้อยเกินไป ใบชายผ้าใหม่จะห้อยลง และโคนอาจบิดเบี้ยว ทรงไม่เป็นระเบียบ แลดูไม่สวยงาม

การขยายพันธุ์ : สามารถแตกหน่อต้นใหม่ได้เป็นจำนวนมาก หรือเพาะสปอร์

Platycerium willinckii

Platycerium willinckii

Platycerium willinckii (T.Moore) Hennipman & M.C.Roos
ชื่อพ้อง : P. sumbawense
ชื่อสามัญ : Silver Staghorn, Java Staghornชื่ออื่น : วิลลิงกิไอ, ชายผ้าสีดา-อินโดนีเซีย, สายม่านบุษบา
P. willinckii มีถิ่นกำเนิดธรรมชาติในหมู่เกาะชวา-อินโดนีเซีย หมู่เกาะซันดา นิวกีวนี ออสเตเลีย ในบริเวณป่าดงดิบที่มีฝนฃุก เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง ตั้งแต่ระดับ 6 - 18 ม. มีลมพัด อากาศถ่ายเทสะดวก และได้รับแสงแดดรำไร ที่กรองผ่านเรือนพุ่มของไม้ใหญ่

ลักษณะทั่วไป : เป็นเฟินขนาดกลาง ทั้งต้นสีเขียวอมเหลืองถึงเขียวเทา ใบหนาเหมือนแผ่นหนัง มีขน(รูปดาว)สีขาวปกคลุมทั่ว แตกหน่อจากปลายราก เจริญจากด้านข้างของใบกาบและเจริญเติบโตอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่

การปลูกเลี้ยง : หลักการปลูกเลี้ยง เลี้ยงแบบชายผ้าสีดาชนิดอื่นทั่วไป คือ ต้องการแสงแดดรำไร - มาก การให้น้ำ ควรให้น้ำพอมีความชื้่น และปลูกเลี้ยงในที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ชุ่มชื้นดี ให้ปุ๋ยเพียงเดือนละครั้งก็เพียงพอ

การขยายพันธุ์ : เพาะสปอร์ หรือแยกต้นใหม่ที่โตจากหน่อปลายราก P. willinckii หากปลูกเลี้ยงวนสภาพที่ได้รับความชุ่มชื้นดีเพียงพอ จะแตกหน่อใหม่จำนวนมาก ผู้ปลูกเลี้ยงทั่วไป จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อปลูกมากกว่าการเพาะต้นใหม่จากสปอร์

Platycerium wandae

Platycerium wandae
Platycerium wandae
ชื่อสามัญ : Queen of Staghorn
Platycerium wandae เดิมชื่อ P. wilhelminae-reginae มีถิ่นกำเนิดในนิวกีวนี ถือว่า เป็นเฟินชายผ้าสีดาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ เมื่อโตเต็มที่และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ลักษณะทั่วไป : คล้ายคลึงและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับ กระโปรงสีดา P. grande, กระเช้าสีดา P. holttumii และ P. superbum แต่ขนาดของ P. wandae ใหญ่กว่ามาก ในขณะที่ใบชายผ้ามีสัดส่วนสั้น เมื่อเทียบกับขนาดของต้น เป็นเฟินชายผ้าสีดาที่เจริญเติบโตเร็ว ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงมาก-ปานกลาง มีความชุ่นชื้นในอากาศสูง ระบบรากมีช่วงแห้งสลับเปียก P. wandae เป็นต้นเดี่ยว ไม่แตกหน่อใหม่ ต้นใหม่ เกิดจากสปอร์เท่านั้น (ไม่รวมกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแตกตาข้างเหง้า)

การปลูกเลี้ยง : P. wandae ต้องการความชุ่มชื้นในอากาศมาก และแสงสว่างมาก ทั้งควรจัดเตรียมพื้นที่มากๆ สำหรับต้นที่ เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการให้น้ำ P. wandae ไม่ชอบน้ำปริมาณมากที่ระบบราก ควรปล่อยให้มีช่วงที่ระบบรากแห้งบ้าง การพ่นฝอยละอองน้ำ หรือ การเพิ่มความชุ่นชื้นในบรรยากาศรอบๆ จะช่วยให้เติบโตได้ดี วิธีการดูแล เหมือนกันกับ P. superbum

การขยายพันธุ์ : P. wandae ปกติไม่แตกหน่อ การขยายพันธุ์จึงต้องอาศัยสปอร์เท่านั้น

การเพาะสปอร์

ในที่นี้เราใช้พีทมอส ในการเพาะสปอร์นะคะ เพราะว่าจัดเป็นวัสดุเพาะที่เราจัดการได้ง่าย รวมทั้งสะดวกในการแยกโปรแธลลัสมากกว่าวัสดุเพาะอื่นๆ
1. ทำการร่อนพีทมอสให้ได้ความละเอียดที่พอๆกัน และเพื่อคัดแยกสิ่งที่ปนเปื้อนมา

2. จากนั้นนำพีทมอสที่ร่อนแล้วไปทำการนึ่งในไมโครเวฟ 20 นาทีเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราและตะไคร่
3.เอามาใส่ตะกร้าพลาสติกดังรูป เกลี่ยให้กระจายตัวเสมอกัน รอให้เย็นตัวลง

4.สเปรย์น้ำสะอาด ให้ชุ่มโชก แนะนำให้ต้มฆ่าเชื้อโรคก่อนค่ะ

5.เตรียมสปอร์ที่จะใช้หว่านให้พร้อม

6.หว่านสปอร์ให้บางๆไม่ต้องหนาแน่นไป โดยหว่านกระจายให้ทั่ว

7.สเปรย์น้ำอีกครั้งเพื่อให้สปอร์กระจายตัวสม่ำเสมอมากที่สุด

8.เอาใส่ถึงพลาสติกใส่ โดยทำกระโจมลวดเพื่อกันน้ำตกทับสปอร์และเพื่อการระบายอากาศที่ดีขึ้น จากนั้นเอาไปวางในที่มีแสงแต่เย็นชื้น จากนั้นก็รอการงอกของสปอร์ซึ่งโดยปรกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ1เดือน

การแยกเฟินจากระยะเกิดใบจริง-ลงกระถาง

การแยกเฟินจากระยะเกิดใบจริง-ลงกระถาง
เมื่อสปอร์ที่เราหว่านเอาไว้เลยจากระยะโปรทัลลัสแล้ว
เกิดใบจริงอย่างในรูป ก็ต้องเอามาแยกปลูกแล้วค่ะ
เพื่อการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น เพราะว่าอยุ่แน่นๆแบบนั้น
เฟินจะไม่โตค่ะ
โดยเตรียมการดังนี้
1. เตรียมพีทมอสที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 20 นาทีด้วยไมโครเวฟค่ะ
2. จากนั้นเอาพีทมอส 3 ส่วน มาผสมกับเพอร์ไลท์จำนวน 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันค่ะ การใส่เพอร์ไลท์เพื่อที่จะให้ระบบรากของเฟินมีอากาศมากขึ้นค่ะ และลดปัญหาตะไคร่ที่เกิดจากความชื้นที่มากเกินไปได้ด้วย

3. สเปรย์สารละลายไฟซาน20 อัตรา 1 ช้อนชา และ ปุ๋ยเกร็ดสูตรเสมอ 20-20-20 อัตรา 1 ช้อนชาต่อน้ำ 4 ลิตร จนพีทมอสเปียกชุ่มค่ะ ทำเช่นนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้นและเร่งรากให้พัฒนาได้เร็วค่ะ

4.เตรียมสารละลายยากำจัดเชื้อราพวก ไรซอคทอเนีย ที่มักจะเกิดในระยะแยกปลูกนี้ค่ะโดยใช้สารที่ชื่อว่าโทลโคฟอส-เมทิล หรือ ชื่อการค้าว่าไรโซเล็กซ์ อัตรา 2.5 กรัม (ครึ่งช้อนชา)ต่อน้ำ 1 ลิตร เติมสารเร่งรากลงไปอีก 1 ซีซี ด้วยก็ดีค่ะสารกลุ่มพวกไม่ทำลายใบอ่อนๆของชายผ้าในระยะนี้ค่ะ

5. จากนั้นก็ทำการปลูกต้นที่มีใบจริงแล้ว โดยเอาคีบเล็กๆคีบต้นที่มีใบจริงขึ้นมาค่ะ แล้วเอามาจุ่มลงในสารละลายกำจัดเชื้อราและเร่งรากที่เตรียมไว้ จากนั้นก็เอาปลูกลงบนวัสดุปลูกที่เราเตรียมไว้ค่ะ ระยะห่างต่อต้นประมาณ1นิ้วค่ะ



5. เสร็จแล้วก็เอาใส่ถุงพลาสติกป้องกันการคายน้ำเช่นเดิมค่ะ

6. รอจนใบจริงโตราวๆ1นิ้ว ก็ทำการปลูกลงกระถาง4นิ้วและ6นิ้ว ตามลำดับ

7.โดยวัสดุปลูกในระยะ4นิ้วแนะนำให้ใช้สแฟกนั่มมอสก่อนค่ะ เนื่องจากไม้ยังอ่อนแอ และต้องการความชื้นเสมอ จากนั้นในระยะที่โตกว่านี้จะเปลี่ยนไปใช้กาบมะพร้าวสับก็ไม่มีปัญหาค่ะ

การปาดแยกหน่อชายผ้าสีดา

เตรียมต้นที่มีหน่อใหม่เกิดขึ้นมา ในขนาดที่พร้อมแยกได้แล้ว คือมีใบชายที่ใช้ปรุงอาหารได้แล้ว จะทำให้ลดอัตราการตายหลังจากการปาดไปได้เยอะค่ะ
1.เตรียมอุปกรณ์ดังรูปค่ะ ในที่นี้ใช้สแฟกนั่ม มอส เป็นวัสดุปลูกค่ะ เพราะว่าด้วยคุณสมบัติที่ชื้นเสมอและปลอดเชื้อโรคมากกว่าวัสดุปลูกเช่นกาบมะพร้าวค่ะ ไฟซาน20(ยาฆ่าเชื้อสำหรับต้นไม้และวัสดุปลูก กระถาง) รูสโกร (ฮอร์โมนเร่งราก) มีดคมๆ ป้ายชื่อ กระถางตามขนาดของต้นที่เราจะแยก

2.ทำการปาดโดยให้มีรากติดมากับหน่อที่เราปาดด้วยนะคะ


3.เตรียมสารละลายไฟซาน20 อัตรา 5ซีซี ต่อน้ำ 4 ลิตร และ รูสโกรอัตรา 4ซีซี ต่อน้ำ 4 ลิตร เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย ตรงรอยที่เราปาด และ เพื่อกระตุ้นการเกิดรากใหม่ ค่ะ

4. แช่หน่อที่เราปาดมาใหม่ลงในสารละลายนี้ราวๆ5นาทีค่ะ

5.จากนั้นก็นำมาปลูกลงในสแฟกนั่ม มอส ที่แช่น้ำจนพองตัวดีแล้ว

6.ทำการปลูกโดยเอามอสพันที่รากให้ประกบแน่นก่อนค่ะ จากนั้นวางลงในกระถาง แนะนำให้รองก้นกระถางด้วยโฟมเพื่อการระบายน้ำที่ดีค่ะ
7.จากนั้นมัดด้วยเอ็นให้แน่นค่ะ เพื่อที่รากจะสัมผัสกับวัสดุปลูกให้มากที่สุด

8.จากนั้นก็ติดป้ายชื่อก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยค่ะ

หมายเหตุ ในกรณีที่อากาศมีความชื้นน้อยมาก แนะนำให้เอาลงถุงพลาสติกใสแบบนี้นะคะ เพื่อลดการคายน้ำ ค่ะ จากนั้นเอาไปไว้ในที่ร่ม เย็น มีแสง แนะนำให้วางบนพื้นดินที่มีความชื้น ค่ะ รอจนรากเดินดีแล้ว ค่อยเอาออกจากถุงค่ะ

เฟินชายผ้าสีดาลูกผสม

P.Mt.Kitshakood อ่านว่า เม้า คิชฌกูฏ ค่ะ เป็นลูกผสมระหว่าง P.coroanrium (ชายผ้าสีดาสายม่าน) และ P.redleyi (เขากวางตั้ง) คนทำไม้ตัวนี้เป็นคนไทยครับ ที่ จันทบุรี


P. x elemaria เป็นลูกผสมในธรรมชาติระหว่าง P.elephantotis x stemaria

P. Horn's Surprise เป็นลูกผสมระหว่าง P.madagascariens x P.alcicorne

P.Minnie Bell คือลูกผสมระหว่าง P.stemaria x hillii

P.Lemoinei เป็น ลูกผสมระหว่าง P.veitchii กับ P.wilinckii โดย V.Lemoine และ Son Nersery ในเมือง Nancy ประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1924

P.Jimmy Davis เป็นลูกผสมP.ellisii แต่อีกตัวนึงยังไม่แน่ใจ

P.Ya-Nid เป็นลูกผสมระหว่าง P.willicnkii x hillii คนหว่านสปอร์ชื่อคุณย่านิด

P.Diversifolium เค้าว่ากันว่าเป็นลูกผสมระหว่าง P.bufurcatum x P.hillii

P.elephantotis x redleyi ไม้ชุดนี้ทำโดยคนไทย ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่ทำ P.Mt.Kitshakood

P.Lucy ไม้ของคนทำชื่อ Reggie Whitehead ไม้ตัวนี้มีชื่อมาจาก แมว สัตว์เลี้ยงของคุณReggie ค่ะ ไม้ตัวนี้มีเชื้อสายของ P.alcicorne

P. Charles Alford เป็นลูกผสมของP.wandae กับ P.redleyi

P.Boonchom เป็นลูกผสมระหว่าง P.elephantotis X P.andinum เป็นการจับคู่ Prothallus ผสมกัน โดยตรง ต้นไม้โดยรวม ก็เหมือน P.andinum

Hybridization

ก็เพื่อที่เราจะได้ลูกเฟินหน้าตาแปลกๆใหม่ มีความสวยงามแปลกตาออกไป
เมื่อก่อนการผสมพันธุ์ทำโดยวิธีในธรรมชาติ
โดยอาศัยความบังเอิญช่วย ส่วนในปัจจุบันนี้การผสมข้ามสายพันธุ์ทำได้ดังนี้
วิธีที่1.
ทำโดยการหว่านสปอร์ของ2สปีชีส์ลงไปในวัสดุเพาะ
วิธีนี้เป็นวิธีที่ดูเหมือนง่ายต่อการทำ แต่ว่าต้องใช้เวลานานในการติดตามผลพวกลูกหลาน
ที่จะออกมาว่าได้ทำการผสมข้ามสายพันธุ์กันไหม
ซึ่งโดยปรกติเฟินในระยะโปรแธลเลียที่มีลักษณะเป็นรูปหัวใจนั้น
จะมีอวัยวะทั้งเพศผู้และเพศเมียในแผ่นเดียวกัน โดยอวัยวะเพศเมียจะชื่อว่า
อาคิโกเนีย(archegonia)ซึ่งแต่ละกันก็จะสร้างไข่ใบหนึ่ง
และก็จะสร้างอวัยวะเพศผู้ที่เรียกว่าแอนเธอรีเดีย(antheridia)
ซึ่งแต่ละอันก็จะมีสเปริ์มอยู่มากมาย ซึ่งเมื่อได้รับน้ำจากธรรมชาติเชื้อตัวผู้จะว่ายน้ำไปยังไข่
และเจาะเข้าไปผสมพันธุ์ ถ้าไข่ใบไหนได้รับการผสมพันธุ์ก็จะเกิดใบจริงขึ้นมา
แล้วก็พัฒนาต่อไปเป็นเฟินต้นอ่อนแล้วก็โตต่อไป
ดังนั้น ตอนช่วงผสมพันธุ์นั้น ถ้าบังเอิญว่าเชื้อตัวผู้ของอีกสปีชีส์หนึ่ง
ไปผสมกับไข่ของอีกสปีชีส์หนึ่ง การผสมข้ามสายพันธุ์ก็จะเกิดขึ้น
ลูกผสมก็จะเกิดขึ้นมาตอนนี้นี่เองค่ะ
ซึ่งโอกาศของการผสมในสปีชีส์เดียวกันก็มี
ทั้งนี้ทั้งนั้นในระยะที่เฟินเกิดใบจริงในระยะแรก เราไม่สามารถดูออกได้เลยค่ะ
ว่าต้นไหนผสมกันเองหรือข้ามสปีชีส์ เราต้องเลี้ยงกันจนโตแล้วดูลักษณะของความเป็นลูกผสม
ซึ่งลูกผสมที่ได้แม้จะมีความเหมือนพ่อและแม่อยู่กึ่งกลาง
แต่ถ้าพ่อแม่มีความต่างทางโครงสร้างกันมากลูกผสมที่ออกมาก็มีลักษณะที่ไม่แน่นอน
ส่วนข้อด้อยของลูกผสมเหล่านี้คือมักจะเป็นหมัน
โดยหลังจากนี้การขยายพันธุ์ของลูกผสมพวกนี้ก็มีเพียงแต่การแบ่งหน่อหรือแบ่งเหง้าเพียงอย่างเดียว
แต่ก็มีบางประเภทที่ยังสามารถให้ลูกจากสปอร์ต่อไปได้เช่นกัน


ข้อกำจัดของซึ่งการผสมพันธุ์ด้วยวิธีนี้ต้องใช้ระยะเวลาและพื้นที่มากในการที่จะทำลูกผสมตัวหนึ่งขึ้นมา
บอกได้เลยว่า การทำลูกผสมแบบนี้ต้องนับถือคนทำจริงๆค่ะ ว่าความตั้งใจและการดูแลเอาใจใส่ต้องมีมาก
และเนื่องจากการหว่านสปอร์ของสองชนิดเข้าด้วยกัน การงอกไม่สม่ำเสมอและไม่อยู่ในระยะเวลาเดียวกันของโปรแธลเลียก็เป็นปัญหาได้
ซึ่งถ้าสปอร์ของสปีชีส์ใดไม่งอก การผสมข้ามสายพันธุ์ก็จะไม่มีการเกิดขึ้น



วิธีที่2
การเพาะสปอร์ของเฟินสองสปีชีส์พ่อแม่คนละที่กัน
แล้วเมื่อสปอร์ของแต่ละอันงอกเป็นโปรแธลเลียแล้ว ค่อยเอามาวางรวมกัน
วิธีนี้จะมั่นใจได้ว่า สองสปีชีส์นั้นงอกจริงๆ ซึ่งโอกาศการผสมข้ามสายกันก็มีมากขึ้น
วิธียุ่งยากนิดนึง แต่โอกาศที่จะเกิดลูกผสมก็มีมากกว่าวิธีด้านบน
ซึ่งข้อด้อยของวิธีนี้คือ เราอาจจะไม่มั่นใจว่าลูกที่เกิดมาเกิดจากการผสมตัวเองหรือผสมข้ามต้น


วิธีที่3
การทำลูกผสมโดยวิธีการตัดอวัยวะเพศของแต่ละสายพันธุ์มาประกบกัน
โดยเราต้องแยกการหว่านสปอร์คนละกระถาง
เมื่อเกิดโปรแธลเลียแล้วก็เอาโปรแธลลัสชนิดหนึ่งมาแล้วใช้มีดคมๆตัดปลายด้านเว้าของโปรแธลลัสออก
ส่วนนี้จะมีไข่อยู่ ส่วนที่เหลือคือ แอนเธอริเดียที่มีการผลิตสเปริมอยู่
แล้วก็เอาโปรแธลลัสของอีกชนิดหนึ่งมาตัดเอาอวัยวะเพศผู้ออกไป
เอาแต่เฉพาะเพศเมียไว้ จากนั้นก็เอาส่วนที่เหลือทั้องสองชนิดนี้มาเรียงต่อกัน
แล้วก็รอโอกาศการว่ายของสเปริมมาที่ไข่ การทำแบบนี้ได้ผลมากก็จริง
แต่ก็ไม่ถึง100%เนื่องจาก มีการผสมตัวเองไปก่อนแล้ว ก่อนที่เราจะเอามาทำการตัดแบ่งร่างออก



วิธีที่4
การทำผสมแบบนี้จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยด้วย
โดยทำการหว่านสปอร์ของชนิดที่จะเอามาทำพ่อแม่พันธุ์แยกจากกันคนละถาด คนละเวลา ดังนี้
สปอร์ที่เราคาดว่าจะเอามาทำแม่พันธุ์ควรจะหว่านก่อนราวๆ4-6อาทิตย์
ซึ่งการนี้จะทำให้เราได้ระยะของโปรแธลเลียของทั้งสองชนิดที่ในระยะที่เหมาะกับการผสมพันธุ์กันพอดี
โดยปรกติอวัยวะเพศเมีย อาคิโกเนีย จะพัฒนาหลังจากตัวผู้ แอนเทอริเดีย ราวๆ1-2เดือน
โดยนำเอาโปรแธลเลียที่เราต้องการที่จะให้ทำหน้าที่ผลิตสเปริมเพศผู้
ขนาดราวๆ1/4นิ้วมาวางในถาดแก้วแบนราบ
จากนั้นก็ใส่น้ำอุ่นอุณหภูมิราวๆ25-35องศาเซลเซียสพอประมาณท่วมแผ่นโปรแธลเลีย
จากนั้นนำเอาไปตั้งไว้ใต้แสงไฟขนาด40วัตต์ระยะห่าง1ฟุต ทิ้งไว้ราวๆ20นาที
จากนั้นก็ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูว่ามีเสปริมออกมาว่ายในน้ำหรือยัง
จากนั้นนำโปรแธลเลียที่เราจะใช้เป็นแม่พันธุ์มาทำความสะอาดโดยการล้างน้ำ
แล้วก็ส่องกล้องดูว่า แผ่นโปรแธลลัสนี้ได้รับการผสมพันธุ์ด้วยตัวเองไปหรือยัง
ถ้าผสมแล้วก็ไม่สามารถนำมาใช้งานได้
จากนั้นก็วางในส่วนที่เป็นด้านเพศเมียที่ผลิตไข่
วางลงไปในน้ำที่มีสเปริมตัวผู้ว่ายอยู่ โดยเอาฝาแก้วครอบปิดไว้กันการรบกวนจากนั้นเอา
วางไว้ใต้แสงไฟเช่นเดิม วางทิ้งไว้ราวๆครึ่งชั่วโมงจนถึงคืนนึง
จากนั้นก็นำเอาแผ่นโปรแธลเลียพวกนี้ไปล้างน้ำหลายๆครั้งจนสะอาด
เพื่อกำจัดสเปริมตัวผู้ที่แผ่นนี้ผลิตได้ด้วยตัวเองออกไป
จากนั้นก็นำไปปลูกในวัสดุปลูกที่สะอาด โดยแยกการปลูกแต่ละแผ่นๆไป

การผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่นี้จะใช้เวลาราวๆ4-6อาทิตย์
ซึ่งการผสมพันธุ์ด้วยวิธีนี้จะประสบความสำเร็จราวๆ80%
*******************
โดยทั้งหมด4วิธีของการผสมพันธุ์นี้ เป็นการผสมเพื่อข้ามสายพันธุ์
ผลผลิตที่ออกมาในกรณีที่มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากเดิม
ที่ทำให้มีความคลาดเคลื่อนสับสนว่าจะเป็นลูกผสมหรือไม่ก็มีอาทิเช่น
การที่ใบถูกทำลายเกิดบาดแผลทำให้โตผิดเพี้ยนไป
หรืออาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์ หรือการรวมกันของยีนที่ผิดปรกติ
ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นการจะให้มั่นใจว่าเป็นลูกผสมจริงหรือไม่
ก็ต้องไปส่งตรวจสอบจากแล็บวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านเฟิน
เพื่อดูการคาบเกี่ยวระหว่างของพ่อและแม่ว่ามีความแตกต่างหรือเหมือนกันเพียงใด
ภาพต่อไปนี้เป็นระยะการพัฒนาจากโปรแธลลัสไปเป็นใบจริง




**หมายเหตุ - โปรแธลลัส (prothallus)เป็น เอกพจน์
- โปรแธลเลีย (prothalli)เป็น พหูพจน์